คน เดียว ดาย กับ คน มี เพื่อน



ท่ามกลางหมู่คนมีมากมาย ชีวิตของคนทำงานที่มีเพื่อนร่วมงาน มีงานประจำทำ มีคนรู้จักทีพักอยู่ในคอนโดเดียวกัน  เวลากินข้าวคนเดียวใต้ตึกมองดูคนเดินไปมา มองรถวิ่งไปวิ่งมา นั่งเล่นเกม เล่นมือถือคนเดียว เดินไปตามทางเดินผ่านผู้คนมากมายที่เราไม่สนใจและไม่มีใครสนใจใคร เหงาอยากหาเพื่อนเย็นวันศุกร์ จะได้นั่งคุยชดเชยจากที่ทั้งอาทิตย์คุยกับใครก็ไม่เหมือนเพื่อนที่เข้าใจเรา ลองทำแบบนี้เป็นอาทิตย์ เดือน ปี ความจำเจ ความเป็นประจำ จะเริ่มมองหาความหมายของการมีชีวิตและการใช้ชีวิตแปลกออกไป

ใครเป็นคนบอกว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่ต้องการติดต่อการกลุ่ม ได้รับการยอมรับจากกลุ่มอยู่เสมอ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง คนที่อยู่ในสังคมที่วุ่นวายติดต่อกับผู้คนเป็นประจำคงไม่พูดกันถึงความเบื่อความเหงา ความเบื่อแม้การนั่งรออะไรสัก 5 นาทีก็เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาให้เร็วขึ้น เวลาอ่านจดหมายในอดีตคนรอทั้งส่งจดหมายรอจดหมายตอบกลับใช้เวลาเป็นวันหรืออาทิตย์ ปัจจุบันการรอ E-mail ตอบกลับช้ากว่า 4-5 ชั่วโมงถือว่าไม่เอาใจใส่กับงานที่ทำ พฤติกรรมของมนุษย์ต้องเฝ้าอยู่กับอุปกรณ์ IT ทั้งในเวลาตื่นและหลับ ความเร็วของอุปกรณ์สื่อสารทั้งหลายก็ไม่เคยพอกับความต้องการของมนุษย์เช่นกัน
จาก http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=18&A=771&Z=813

เคยอ่านบทความของนายกรัฐมนตรีประเทศเพื่อนบ้านที่เกษียรแล้วแต่ยังทำงานแม้อายุแถวๆ 80 ปีว่าต้องทำงานต้องมีสังคมจึงจะมีชีวิตยืนยาว มีหลายคนชื่นชมในแนวคิดนี้และพยายามทำตาม แต่ผู้เขียนก็จะเปรียบเทียบเรื่องต่างๆกับคำสอนในพระไตรปิฎกที่ยึดเป็นสรณะ ทำให้ออกจะมีความเห็นแตกต่างไป เริ่มจากถ้าเชื่อว่าการมีชีวิตยืนยาวด้วยการทำงานคือความมุ่งหมายของชีวิตนี้คงต้องทำงานจนนาทีสุดท้าย และยึดเอาว่าที่ทำงานไปจนตายเป็นเรื่องปกติ ที่ตายเพราะทำงานหนักก่อนอายุ 50 ปีก็มีให้เห็นมากมายอาจจะมากกว่าที่มีอายุ 80ปี ถ้าชาติหน้าเกิดอีกก็คงจะทำงานหนักจนตายอีกไม่พ้นจากสงสารไปเสียที พระพุทธเจ้าสอนให้ทำงานเพื่อเลี้ยงดูกายที่เป็นที่อยู่ของใจนี้ให้พอเพียงเพื่อจะได้ไม่ก่อทุกข์ให้และทำงานอีกแบบคือเจริญสติให้มากเข้าไว้ สร้างกุศลให้มากเข้าไว้ เพียรละทุกข์ไปให้มาก สักวันชีวิตนี้ก็ไม่ได้มีความหมายของการเกิดตาย ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้อายุยืนยาวนานเลย

ความหมายของการเป็นคนเดียวดายในพระไตรปิฎก แสดงไว้แตกต่างจากคนเหงาไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคม ที่เราเข้าใจ เพราะแม้จะไม่ได้อยู่ในที่มีผู้คนเลย พระพุทธเจ้าก็ไม่เรียกว่าเป็นผู้สันโดษปลีกตัวออก เพราะยังมีตัณหาคอยเป็นเพื่อน สร้างความอยาก ไม่อยาก ความเหงา ความเบื่อให้อยู่ พระสูตรนี้ก็เป็นคำสอนที่แสดงไว้ให้เห็นว่า เวลาที่คนเหงาอยู่คนเดียว โดดเดียว ในความหมายของพุทธแล้วก็ห่างจากคำว่าสันโดษอยู่มาก

ดังนั้นไม่ว่าจะมีสิ่งแวดล้อมอย่างไรมีหรือไม่มีผู้คน การละจากตัณหาของบุคคลนั้นจึงเป็นความหมายของสันโดษพระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้



@นั่งเก้าอี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น