มรณะ สติ ใคร อยาก จะ คิด แต่ เรื่อง ตาย



เรื่องตายสำหรับคนทั่วไปคงเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จะพูดถึง บ้างบอกว่าเป็นลาง เป็นเรื่องร้าย เป็นเรื่องเศร้าหมองเปล่าๆ มีแต่ความหดหู่ไม่สร้างสรรค์จะพูดไปทำไม คุยกันอยู่กับเพื่อนสนุกเฮฮาถ้ามีใครสักคนเกิดพูดว่าเหลือเวลาอีกไม่นานแล้ว หรือพูดว่าที่นั่งอยู่นี่ไม่มีใครรู้ว่าใครจะไปก่อน งานคงกร่อยหัวเราะไม่ค่อยออกแล้ว หรือในฐานะคนไทยเวลาอวยพรกันก็คงไม่มีใครอวยพรว่า ขอให้ตายไปตามกรรมนะ


เคยอ่านนิทานมรณะสติแบบเซนที่อาจารย์เซนสำคัญในยุคนั้นถูกเชิญจากเศรษฐีใหญ่ ให้เขียนคำอวยพรไว้ติดฝาบ้านเพื่อเป็นศิริมงคล อาจารย์เขียนให้เต็มที่ตัวเบอเร้อว่า ปู่ตายก่อนพ่อ พ่อตาย แล้วลูกค่อยตาย คงจะแรงไปหน่อยเศรษฐีรับยากแต่ก็พอจะได้ทีของอาจารย์ที่เริ่มสอนมรณะสติได้ว่าถ้าอวยพร ว่าให้ลูกตายก่อน แล้วพ่อตาย แล้วปู่ตายจะดีกว่าหรือ


ความตายเป็นสิ่งที่ทำให้พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก แต่ทำไมก็ยังมีคนฆ่าตัวตายหรือทำให้ตัวเองตายไม่ทางตรงก็ทางอ้อมเสมอ ความตายที่มนุษย์พูดถึงส่วนใหญ่ก็คงเป็นการตายทางร่างกายนี้ ความตายในทางศาสนาพุทธมีความลึกอยู่มากเพราะถ้าพิจารณาว่า มีความเกิดที่ประกอบรวมกันอยู่นี้เป็นกายจะมีการตายควบคู่กันอยู่เสมอและตลอดเวลา


ตัวอย่างเช่นเรามีการกินอาหารเป็นปัจจัยให้เกิดการเติบโต มีการพลัดเปลี่ยนเซลล์ในร่างกายทุกวันทุกนาทีอาหารถูกเปลี่ยนไปเป็นสิ่งต่างๆก็ตายจากเดิมไป มีการเกิดการเสื่อมการดับไปบ้างส่วนหมุนเวียนไปอย่างนั้นตามวัยต่างๆก็มีการเกิดการเสื่อมการดับไม่เท่ากันมากน้อยต่างไปแต่มีความต่อเนื่องเสมอ ส่วนที่เห็นก็เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของปัจจุบันหรือบ้างทีก็ไม่เห็นเวลาไม่มีสติอยู่ และมีสัญญาหรือความจำในอดีตคอยเปรียบเทียบให้เห็นการเปลี่ยนแปลง

ตัวอักษรที่เพิ่งพิมพ์เสร็จเกิดและตายเรียบร้อยแล้ว ส่วนทางกายก็พอจะประมาณได้ ส่วนที่เป็นทางใจยิ่งจะเห็นเกิดดับทุกขณะจริงๆ เมื่อลืมตาตื่นจนหลับฝันใจทำงานไปตามทางการกระทบทางอายตนะไปเรื่อย เกิดดับนับครั้งไม่ถ้วนทุกการดับก็นับว่าตายเหมือนกัน


คนที่นั่งอ่านเมื่อบรรทัดที่แล้วอยู่ที่ไหนตอนที่อ่านบรรทัดนี้คนนั้นตายไปแล้วหรือเปล่า? ถ้ายังไม่ตายเรียกกลับคืนมาได้ไหม? แล้วถ้าเรียกกลับมาไม่ได้แก้ไขที่ทำไปแล้วก็ไม่ได้จะต่างอะไรกับความตาย


พระสูตรนี้พระพุทธเจ้าถามพระที่พิจารณามรณะสติอย่างไรจึงจะเหมาะเรียกได้ว่าเป็นผู้ไม่ประมาท ภิกษุหลายรูปยืนยันว่าเจริญมรณะสติอยู่ บ้างรูปก็บอกว่าตนเองคิดถึงว่าจะอยู่ได้แค่วันเดียวคืนเดียว บ้างรูปก็บอกว่าอยู่ได้ชั่วขณะฉันอาหารมื้อเดียว บ้างรูปก็บอกว่าอยู่ได้ชั่วขณะเคี้ยวข้าวคำเดียว บ้างรูปก็บอกว่าอยู่ได้ชั่วลมหายใจเข้าลมหายใจออก พระพุทธเจ้ามีคำตอบให้ดังนี้

ภิกษุใดย่อมเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่เคี้ยว
ข้าวคำหนึ่งกลืนกิน เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงกระทำกิจ
ให้มากหนอ และภิกษุใดย่อมเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่
ได้ชั่วขณะที่หายใจเข้าแล้วหายใจออก หรือหายใจออกแล้วหายใจเข้า เราพึง
มนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย เหล่านี้ เรากล่าวว่าเป็นผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญมรณัสสติ เพื่อความสิ้น
ไปแห่งอาสวะทั้งหลายแรงกล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอ
ทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลาย จักเป็นผู้ไม่ประมาท จักเจริญมรณัสสติ
เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายอย่างแรงกล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
พึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ


พระสูตรนี้ได้ยินหรือได้อ่านทีไรจะสำนึกดีใจที่ได้เกิดมาเป็นชาวพุทธ ได้เรียนรู้ความลึกซึ้งของชีวิตที่แสดงไว้อย่างดีเยี่ยมในพระไตรปิฎกนับเป็นบุญแท้ แม้พ้นทุกข์ยังไม่ได้ต้องตายต้องเกิดอีกก็ขอให้ได้อยู่ในพุทธศาสนาได้ศึกษาพระธรรมต่อไปเถิด

4 ความคิดเห็น:

  1. กราบพระพุทธองค์ กราบพระธรรมคำสอน กราบพระสงฆ์สาวก อรุณสวัสดิ์ครับ จิตแจ่มใสใจเบิกบาน ธรรมรักษาครับ ขออนุโมทนา สาธุ สาธุ สาธุ

    ตอบลบ
  2. อนุโมทนา สาธุครีบ
    ขอบคุณครับ ในข้อธรรมดีๆ สาธุ

    ตอบลบ