โลก ความหมาย ใน พุทธ


โลกที่พวกเราอยู่คือดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง หรือโลกคือสิ่งแวดล้อมที่ชีวิตตื่นเช้าอยู่ในที่ที่รู้จัก คนที่รู้จักงานที่รู้จัก ข่าวสารเดิมต่อจากเมื่อวาน พระพุทธเจ้าให้ความหมายของโลกไว้อย่างหนึ่งและความหมายนี้ก็สำคัญเพราะถ้าไม่เข้าใจคำว่าโลกโดยนัยนี้ จะไม่เข้าใจเวลาอ่านพระไตรปิฎกเจอคำสอนที่ว่า เมื่อโลกดับทุกข์จะดับด้วย อย่างเช่นถ้าตีความว่าโลกคือดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง ต้องรอให้ดาวดวงนี้ดับก่อนถึงจะหมดทุกข์ก็คงจะดูตื้นไปสำหรับความเป็นพุทธ

พระสูตรอย่างสั้นจึงนำมาลงในบทความนี้ทั้งหมดที่จริงในพระสูตรมีการย่อไว้ไม่กล่าวให้ครบทั้งขันธ์ 5 เพราะจะยืดยาวไปเนื้อความซ้ำเดิมตั้งแต่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=1266&Z=1281
[๑๐๑] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียก
กันว่าโลกๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอจึงเรียกกันว่า โลก พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า ดูกรอานนท์ สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดา นี้เรียกว่าโลกใน
อริยวินัย ก็อะไรเล่ามีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุแลมีความแตกสลายเป็น
ธรรมดา รูปมีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุวิญญาณมีความแตกสลายเป็น-
*ธรรมดา จักษุสัมผัสมีความแตกสลายเป็นธรรมดา สุขเวทนา ทุกขเวทนา
หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความแตกสลาย
เป็นธรรมดา ฯลฯ ใจมีความแตกสลายเป็นธรรมดา ธรรมารมณ์มีความแตกสลาย
เป็นธรรมดา มโนวิญญาณมีความแตกสลายเป็นธรรมดา มโนสัมผัสมีความแตก
สลายเป็นธรรมดา สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะ
มโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความแตกสลายเป็นธรรมดา ดูกรอานนท์ สิ่งใดมี
ความแตกสลายเป็นธรรมดา นี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย ฯ


ความหมายที่สั้นมากที่ว่า โลกหมายถึงสิ่งที่มีความแตกสลายเป็นธรรมดา เริ่มจาก ตา (จักษุ), รูป, การเห็น(จักษุวิญญาน), การกระทบกันทั้ง 3 อย่าง(ผัสสะ), สุขจากการเห็น, ทุกข์จากการเห็น, ไม่สุขไม่ทุกข์จากการเห็น (สุข,ทุกข์,ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็เป็นเวทนา)
หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งหมดก็หมายรวมถึงโลกเช่นกัน

คำจำกัดความนี้ครอบคลุมกว้างขวางมาก ลองนึกดูว่าไม่ว่าจะเป็นใครแม้จะอยู่บนดาวเคราะห์ดวงเดียวกัน ทวีปเดียวกัน ประเทศเดียวกัน บริษัทเดียวกัน อาชีพการงานเดียวกัน ครอบครัวเดียวกัน ไม่มีใครซักคนเลยที่อยู่ในโลกเดียวกัน เพราะสัมผัสทางทางกายและใจล้วนแตกต่างกันแม้ว่าจะนั่งอยู่ในห้องเดียวกันก็ตาม เพราะถ้าหมายรวมถึงเวทนา หรือวิญญานในที่นี้คือการรับรู้แล้ว แต่ละขณะของแต่ละคนไม่มีส่วนที่ตรงกันเลย ดังนั้นเราอาจจะพูดได้ว่าทุกคนต่างมีโลกของตัวเองทั้งนั้น แล้วลองคิดต่อว่าถ้าบุคคลนี้อยู่ในที่อื่นในจักรวาล คำจำกัดความนี้ก็ยังใช้ได้อยู่เพราะโลกในความหมายนี้ติดตามตัวของบุคคลนั้นไปไม่ว่าจะอยู่ที่ใด

หรือจะพิจารณาต่ออย่างนี้ว่าถ้าบุคคลหนึ่งไม่มีตา หรือ ไม่มีหู โลกของบุคคลนั้นก็จะแตกต่างออกไป หรือพิจารณาว่าคำทรงจำของบุคคลเปลี่ยนไปโลกของบุคคลคนเดียวกันนั้นเองก็จะเปลี่ยนไป

หรือถ้าพิจารณาย่อยเป็นขณะต่างๆที่จิตทำงานบ้างทีก็กระโดดไปจับสิ่งนั้นทีสักพักก็เสื่อมหลุดไปจับกับสิ่งอื่นที่มีกระทบ แล้วปรุงแต่งต่อไปเรื่อยๆ หรือสลับกลับมามีสติแล้วเสื่อมกลับไปหลงใหม่ โลกในทุกขณะจิตนั้นก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน โลกอันหนึ่งเกิดขึ้นอีกอันดับลง เป็นแบบนี้ไปเรื่อยไม่หยุด ดังนั้นคำจำกัดความแบบนี้จึงมีความหมายคล้ายกับทุกข์มาก การเกิดดับของโลกก็เหมือนกับการเกิดดับของทุกข์ในความเข้าใจของผู้เขียนอย่างนี้

สำหรับการเข้าใจหรือมองโลกแบบนี้บ้างคนอาจจะเศร้าใจที่รู้สึกโดดเดี่ยวและเหมือนกับจะไม่มีใครอยู่ในโลกที่คนคนนั้นอยู่ในขณะนั้นเลย สมกับคำที่ว่าเรามาคนเดียวไปคนเดียวไม่มีอะไรเลยแค่ประชุมแล้วถึงเวลาก็เลิกงานกันไป

แต่บ้างคนก็มีความสุขขึ้นที่เข้าใจโลกแบบนี้เพราะรู้แล้วว่าความสุขความทุกข์สำคัญจากโลกนี้ล้วนเป็นเรื่องเกิดภายในใจของเรานี่เอง การมองสัมผัสกับโลกก็จะเห็นความเป็นเพื่อนทุกข์ในโลกและง่ายต่อการให้อภัย เห็นโลกเป็นเรื่องกลางๆเกิดและดับตามธรรมดา





@นั่งเก้าอี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น