ธรรมะ ซื่อๆ ฐานะ 5 ไม่ ธรรมดา


การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริงหรือ เป็นคำถามที่หาคนยืนยันได้และหาคนคัดค้านได้เสมอ ทั้งที่เป็นชาวพุทธมีศรัทธาแต่บางทีก็หวั่นไหว เมื่อคราวที่ทุกข์แวะเวียนมาเยี่ยมเป็นครั้งคราว

อาจจะไม่เสมอไปที่เรานึกถึงความดีเลวของตัวเองได้หมดจดจริงๆ หรืออาจจะเป็นเพราะเข้าข้างตัวเองส่วนใหญ่ว่าเรานึัทำแต่ความดีมาเสมอทำไมเรื่องร้ายแบบนี้ถึงได้เกิดกับเราได้ แม้ในชาติเดียวนี้ก็จำไม่ค่อยได้ นอกจากนี้คงยิ่งยากที่จะละลึกได้

ผู้เขียนอ่านพระสูตรนี้แล้วเห็นความเรียบง่ายไม่มีคำศัพธ์ที่เข้าใจยาก ตรงไปตรงมาไม่พูดถึงญาน หรือ ฌานใด แต่ก็ชี้ว่ามรรคเกิดได้ด้วยการพิจารณาฐานะทั้ง 5 ประการ ตามความเป็นจริงของการเกิด, แก่, เจ็บ, ตาย, การพลัดพรากจากของรัก, ทั้งตนเองและผู้อื่นก็ล้วนเป็นไปตามกรรม ฐานะทั้ง 5 นี้เป็นธรรมดาที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรพิจารณานืองๆ
 http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=22&A=1649&Z=1741

คำสอนของพระพุทธเจ้าที่น่าสนใจบทนี้คือบอกว่า ทุกคน ไม่ว่าพระ ชาวบ้าน ชาย หรือ หญิง ควรพิจารณาเรื่องนี้เสมอ ไม่เน้นว่าเฉพาะ พระหรือเฉพาะนักบวชเท่านั้น ดังนั้นเราชาวพุทธคงต้องดูตัวเองแล้วว่าได้พิจารณาฐานะเหล่านี้หรือเปล่าในแต่ละวัน

 แต่ละส่วนของการพิจารณาก็บอกประโยชน์ไว้ด้วยเช่น พิจารณาความแก่ เสมอจะได้ไม่มัวเมาความเป็นหนุ่มสาวข้อนี้ไม่พิจารณาก็จะลืมๆเมาๆคิดว่าเป็นไปแต่วันนี้ แต่ไม่ยากเลยที่จะเข้าใจเห็นความเสื่อมต่างๆที่เกิดกับตัวเองและคนรอบตัว

พิจารณาความเจ็บเสมอจะได้ไม่มัวเมาในความไม่มีโรค เคยคิดว่าคนที่รักษาสุขภาพดีมากแล้วไม่มีโรคก็บอกว่าเป็นเพราะรักษาสุขภาพกับคนที่ไม่ค่อยรักษาสุขภาพแต่ก็แข็งแรงดีก็ดูขัดๆอยู่แต่ถ้าคิดว่าทั้งคู่ไม่มีวันที่จะไม่ป่วยต้องป่วยต้องเจ็บสักวันแน่ไม่เชื่อก็ลองหยิกตัวเองดูถ้าเจ็บก็ไม่ต้องคุยต่อแล้วเป็นอันเข้าใจว่ามีความเจ็บปวดแล้วนะ ถ้าไม่เจ็บก็ต้องไปหาหมอแล้วเหมือนกันเพราะคงเป็นไปอีกโรคแล้วละ

พิจารณาความตายก็เห็นกันอยู่เป็นประจำทั้งเห็นกับตาได้ข่าวหรือไปงานศพสารพัดการตายจากเหตุธรรมดาและแปลกเหลือเชื่อ จะทำเป็นลืมว่าสักวันเราก็ต้องตายคงหลีกเลี่ยงไม่ได้สู้พิจารณาเลยว่าตายแน่ๆดีกว่าไหม แล้วก็พิจารณาบ่อยๆว่าตายแน่ มีประโยชน์คือจะได้ไม่มัวเมาในชีวิตแสนสุขแสนทุกข์ที่เป็นอยู่ว่าจะเป็นอย่างนั้นตลอดกาล อะไรที่สะสมไว้ให้ตัวเองเยอะทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี จะได้ผ่อนลงเบาลงไปบ้าง เราคงจะเป็นคนแปลกถ้ารู้ว่าต้องตายพรุ่งนี้แน่ๆวันนี้จะยังมัวมาคิดถึงเรื่องจะทำงานทำเงินทำชื่อเสียงสร้างยศสร้างเกียรติกันอยู่ แต่ถึงไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะตายหรือเปล่าชีวิตคนอยู่เกินร้อยหายากแน่ก็คงพอจะกะเอาได้ว่าเหลือเวลาอยู่บนโลกนี้คนละเท่าไหร่ การพิจารณาอย่างนี้ความหลงในแสง สี เสียง ลาภ ยศ สดใสทั้งหลายคงจะพอทุเลาลงได้บ้าง

พิจารณาความพลัดพรากก็เป็นเรื่องชัดเจนดียังไม่มีสักวันที่เราจะกักเก็บอะไรไว้เป็นของเราได้สักอย่างจริง เกิดไปรักไปชอบอะไรเตรียมใจไว้ได้เลยต้องจากกันแน่ จะเป็นสิ่งของมีชีวิตไม่มีชีวิตรูปธรรม นามธรรมไม่มีทางไม่จากกัน ในเมื่อรู้อยู่ว่าต้องจากกันแน่แม้รักกันขนาดไหน ถ้าไม่ทำความดีความสุขเข้าหาสิ่งที่เรารักในเวลาที่มีอยู่ก็คงไม่เพิ่มพูนฝักไฝ่ให้มากเกินไปนัก  ธรรมดาคนเราคงไม่อยากเจ็บมากเวลาต้องพลัดพรากอะไร

พิจารณาเรื่องกรรมผลของกรรม ธรรมะข้อนี้ผู้เขียนเคยพยายามค้นในพระไตรปิฎกว่าตรงไหนที่บอกชัดๆว่าทำดี ได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว      ตรงนี้ยืนยันตามตัวอักษรว่าเรามีกรรมเป็นของตัวเอง       " จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจัก เป็นผู้ รับผลกรรมนั้น "     จะได้ไว้บอกตัวเองเสมอเวลาความทุกข์หรือกรรมมาเยี่ยมจะได้พอใจว่า ได้ชดใช้กรรมคืนไปบ้างแล้วนะ ไม่สร้างกรรมต่ออีกแล้วนะ เหมือนใช้หนี้ไปแล้วสบายใจไม่มีเจ้าหนี้มาตามทวงหนี้ให้ไม่สบายใจอีก


ส่วนที่น่าสนใจที่สุดจากพระสูตรเรื่องเกิดแก่เจ็บตายธรรมดานี้ คือการพิจารณาเนืองเรื่องนี้จะเป็นการทำให้มรรคเกิดขึ้น
"เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ มรรค
ย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ
อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป "


อย่างที่เราชาวพุทธรู้กันดีว่ามรรคเป็นทางที่จะพ้นทุกข์ทั้งชั่วคราวและถาวร พระสูตรนี้บอกว่าพิจารณาเรื่องธรรมดาเกิดแก่เจ็บตายนี้แหละทำบ่อยๆ มรรคจะเกิดขึ้นเอง เราไม่ได้มีมรรคเป็นข้อปฎิบัติเท่านั้น แต่มรรคเกิดจากเหตุของการพิจารณาเรื่องเหล่านี้ความเป็นไปของมรรคเรื่องความเห็นชอบ ตั้งใจชอบ เลี้ยงชีพชอบ สมาธิชอบต่างๆจะเกิดขึ้นเมื่อการกระทำเหตุคือพิจารณาเรื่องนี้เนื่องๆ นี่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับผู้เขียนที่ว่ามรรคเกิดได้ไม่ใช่เป็นข้อปฎิบัติเหมือนศีล มรรคกลับกลายเป็นความหมายของผลมากกว่าเหตุ

การพิจารณาเรื่องธรรมดาแค่นี้เท่านั้นส่งผลมหาศาลให้มรรคเกิด ลองพิจารณากันดู

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น