ว่าด้วย เรื่อง ทุกข์ (6)


คงจะพอเรื่องการเกิดเป็นทุกข์เขียนมาหลายตอนแล้ว แต่จำได้ว่าตัวเองชอบมากที่ได้รู้สัจธรรมอันหนึ่งว่าเกิดแล้วที่สุดคือตาย ถ้าไม่อยากตายก็อย่าเกิดอีก หรือถ้าไม่อยากเจ็บหัว เจ็บขา เจ็บตัว หรือทุกข์เพราะอะไรก็อย่าได้ไปมีมัน อย่ามีหัว อย่ามีขา อย่ามีอะไร

ที่นี้เกิดมีแล้วจะทำอย่างไร ก็คงต้องยอมรับไปอย่างเช่นในพระไตรปิฎกที่ว่าร่างกายคนเรานี้เหมือนหม้อหรือภาชนะที่แตกได้เมื่อถูกสร้างขึ้นมาแล้วฟันธงได้เลยว่าต้องแตกสักวัน วันไหนแค่นั้นแหละ ก็คงทำอะไรไม่ได้มากแค่ถนอมใช้งานให้สมกับงานของมัน
งานที่สำคัญที่กายนี้มีอยู่ก็คือการเป็นที่อยู่ของใจด้วย พอมีกายกับใจคราวนี้ก็เกิดอะไรต่อไปอีกยกใหญ่บ้างทีก็สร้างสุขให้บ้างทีก็สร้างทุกข์ต่อไปอีก บ้างทีก็สร้างกุศลหรือไม่ก็อกุศล ไม่บาปก็บุญ ก็เป็นแบบนั้นไปเรื่อยๆ ถ้าไม่หยุดกลับมาปฎิบัติด้วยการใช้กายและใจนี้แหละตามที่พระพุทธเจ้าเทศสั่งสอนไว้ เพราะวิธีนั้นนอกจากจะพ้นทุกข์ในระดับต่างๆจากเบาไปจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ ยังเป็นวิธีที่แม้กายนี้จะเกิดมาแล้วแต่ก็ไม่ต้องรองรับทุกข์ก็ได้ คือพ้นไปจากเกิดและตายแม้จะมีกายนีั้อยู่หรือแตกดับไป

ตั้งแต่เด็กก็เคยได้ยินว่าผู้มีอำนาจ ร่ำรวยทั้งหลายพยายามยืดอายุตัวเองให้นานที่สุดที่จะได้ครองอำนาจ ความร่ำรวยไว้ให้นานที่สุดตามกิเลสตัวเอง แม้แต่คนธรรมดาก็อยากมีชีวิตให้นานอาจเพราะกลัวตายแสวงหาสิ่งที่เรียกว่าอมตะ เลยเถิดไปจนอยากมีฤทธิ์เดชเหนือคนอื่น ลึกๆแล้วก็กลัวตายกลัวเจ็บนั่นแหละ พอได้ยินว่าพุทธศาสนามีสิ่งมหัศจรรย์ที่เรียกว่านิพพาน พ้นไปจากความตายได้ก็หลงคิดว่าร่างกายนี้จะไม่แตกดับไปถ้าบรรลุนิพพาน อันที่จริงพุทธศาสนากลับยืนยันหนักแน่นว่าร่างกายนี้ผุพังแตกดับแน่นอน ยังไม่มีใครจะพ้น แต่ก็ยืนยันว่านิพพานมีจริงเช่นกัน

ในหลายตอนก่อนนี้พูดถึงการเกิดว่าเป็นทุกข์เพราะเห็นว่าชัดเจนในแง่กายภาพ และวิญญาน อีกในแง่หนึ่งที่การเกิดเป็นทุกข์ก็คือการเกิดอุปทานขันธ์5 ซึ่งจะเกิดทุกครั้งที่มีสำนึกยึดจับในขันธ์5 นี้ (ถ้าผู้อ่านไม่คุ้นเคยคำว่าขันธ์5 ก็ให้หมายถึง กายกับใจไปก่อน)
การอุปทานแบบนี้คงเป็นเรื่องที่คุยกันต่อได้อีกมากมาย

อีกส่วนหนึ่งที่พบบ่อยในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้ามักถามภิกษุเสมอว่า สิ่งใดเที่ยงหรือไม่เที่ยง ถ้าภิกษุตอบว่าไม่เที่ยง ก็จะถามต่อว่าสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์หรือไม่ ภิกษุก็จะตอบว่าเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้แย้ง แต่ถามต่อว่าควรหรือที่เราควรไปยึดไปถือเอาไว้

ดังนั้นในความหมายนี้สิ่งที่ไม่เที่ยงทั้งหลายในจักวาลล้วนเป็นเนื้อเป็นตัวกับความทุกข์ แบบนี้ความทุกข์คืออะไรก็คงมองง่ายขึ้นเยอะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น