เมื่อมึใครบอกว่าให้ตั้งสติก่อนทำอะไร หรือมีสติเสมอ เคยถามตัวเองไหมว่าคำว่าสตินั้นคืออะไร กายกับใจนี้ตรงไหนที่เรียกว่าสติ ตรงไปตรงมากับตัวเองซักนิดว่าเข้าใจคำว่าสติจริงหรือ ถ้าบอกให้ตั้งสติทำได้ทุกคนทันทีหรือไม่ ความเข้าใจตรงกันและทำสิ่งเดียวกันพูดถึงสิ่งเดียวกันจริงหรือ ถ้ายังตอบตัวเองอย่างมั่นใจไม่ได้ว่าสติคืออะไร หรือถ้าใครบอกว่าให้ตั้งสติก็ไม่สามารถเข้าใจและทำได้เลย หรือยังไม่แน่ใจว่าที่ทำอยู่คือการเจริญสติหรือเปล่า ผู้เขียนแนะนำให้อ่านพระสูตรที่นำมาพิจารณานี้
ผู้เขียนเคยถามเพื่อนสนิทว่าเข้าใจคำว่าสติไหม คนไทยพูดถึงเรื่องการมีสติมากในฐานะที่เป็นชาวพุทธ คงออกจะอายๆถ้าตอบไม่ได้ว่า ตั้งสติ มีสติทำอย่างไร แต่เพื่อนสนิทผู้เขียนเป็นคนตรงไปตรงมาก็ตอบว่าไม่รู้จะอธิบายอย่างไรแต่รู้ว่าทำอย่างไร อีกคนก็บอกว่าเข้าใจเวลามีคนบอกให้ตั้งสติคงหมายถึงให้เลิกทำอะไรเล่นๆหันกลับมาเอาใจใส่ในงานในเรื่องตรงหน้าจริงๆจังคล้ายกับการเพ่งอะไรซักอย่าง
การฝึกสอนให้คนเจริญสติมีหลากหลายรูปแบบในแต่ละวัด แต่ละสำนัก บ้างที่ออกจะแปลกไปด้วยซ้ำเช่นบางสำนักให้นึกภาพเอาเองว่าเป็นวัตถุต่างๆย่อขยายเปลี่ยนสี เปลี่ยนชนิด ย้ายไปมา เคลื่อนไปยังจุดต่างๆในตำแหน่งของร่างกายและยึดไว้อย่างนั้นให้นานๆก็เรียกว่าการเจริญสติ หรือการนับเลขเดินหน้าถอยหลังไปมาเรียกว่าการเจริญสติ หรือ การท่องคำศัพธ์สำคัญเดิมเสมอเรียกว่าการเจริญสติ หรือการจิตนาการหน้ากระจกเวลาดูตัวเองแล้วให้เห็นในกระจกเป็นรูปร่างที่ค่อยๆเสื่อมเหี่ยวเน่าไปเรียกว่าการเจริญสติ การจิตนาการแบบนั่นผู้เขียนก็เคยลองเล่นกัน เช่นแบมือออกแล้วให้นึกว่ามีทุเรียนวางอยู่บนมือให้เห็นเป็นรูปทุเรียน บางทีก็เปลี่ยนเป็นส้ม มะม่วงก็แล้วแต่ บางทีก็จิตนาการต่อเอาเองว่าทุเรียนบนฝ่ามือจะเจ็บปวดอย่างไรต่างจากมะม่วงส้มอย่างไร สนุกดี
เนื้อหาเรื่องการ "เจริญสติปัฏฐาน ๔"ในพระสูตรนี้ผู้เขียนก็ขอแนะนำให้อ่านช้าๆอย่างละเอียดจะใช้เวลานานเท่าใดก็ใช้ไปเถิดไม่ใช่เป็นเรื่องเสียเวลาไปเปล่าๆแน่นอนถ้าเทียบกับเรื่องที่คนทั่วไปให้เวลาอยู่ตอนนี้ เนื้อหาถูกแบ่งไว้อย่างเป็นระเบียบมีขั้นตอนจากง่ายไปยาก เริ่มจาก
พิจารณาเห็นกายในกาย:
รู้จักลมหายใจ รู้จักอริยาบทใหญ่เดินยืนนั่งนอน มีสัมปชัญญะในการกระทำต่างๆในการเคลื่อนไหวกินดื่ม เห็นกายเป็นสิ่งสกปรกประกอบกันขึ้นมา เป็นธาตุดินน้ำลมไฟ เป็นซากสรีระ เลือดเนื้อ เอ็นกระดูก เปื่อยเน่า เพียงเห็นเท่านั้น ไม่ถือมั่นอะไรไว้
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา:
เห็นสุข ทุกข์ เฉยๆไม่สุขไม่ทุกข์ เห็นการเกิด การเสื่อม ของเวทนา
พิจารณาเห็นจิตในจิต:
เห็นราคะ โทสะ โมหะ ความฟุ้งซ่าน ต่างๆที่จรเข้ามาในจิต จิตมีอะไรมาเจือปน จิตตั้งมั่น จิตหลุดพ้น เพียงเห็นเท่านั้น ไม่ถือมั่นอะไรไว้
พิจารณาเห็นธรรมในธรรม:
เห็นการเกิดดับของรูปเวทนาสัญญา สังขาร วิญญาน เห็นการกระทบของอายตนะ 6 ภายในภายนอก เห็นโพชฌงค์ ๗ เห็นอริยสัจ ๔ คือ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ
เพียงเห็นเท่านั้น ไม่ถือมั่นอะไรไว้

ในตอนท้ายในแต่ละส่วนของพระสูตรนี้กล่าวถึงกล่าวถึงการละ การไม่ถือมั่นอะไรในโลก แม้แต่กาย เวทนา จิต ธรรมะ นี้เองก็สักแต่ว่า ดังนั้นแม้การเจริญสตินี้ก็หวังเพียงเพื่อเห็นเข้าใจและ ละได้ในที่สุด
[๑๕๐] ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง พิจารณา
เห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรม
คือความเสื่อมในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง
ย่อมอยู่ อนึ่ง สติของเธอ ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัย
ระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อริยสัจ ๔ อยู่
การเข้าใจว่าสติคืออะไรและเจริญหรือมั่นเพียรสร้างฝึกไว้อย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะมาก่อนเรื่องอื่นเพราะเป็นทางอันเอกที่จะนำไปสู่การพ้นทุกข์อย่างถาวร พระพุทธเจ้าสั่งสอนแนะนำในธรรมะข้อนี้อย่างยิ่งและยืนยันว่าถ้าปฎิบัติต่อเนื่องตลอดเพียง 7 วัน จะหวังผลได้ถึงพระอนาคามี หรือพระอรหันต์
[๑๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ ตลอด ๗ ปี
เขาพึงหวังผล ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมี
ขันธบัญจกเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๗ ปี ยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้
อย่างนี้ ตลอด ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ... ๑ ปี ยกไว้. ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติ
ปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ ตลอด ๗ เดือน เขาพึงหวังผล ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
พระอรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อขันธบัญจกมีเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๗ เดือน ยกไว้
ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ ตลอด ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน
๒ เดือน ๑ เดือน กึ่งเดือน ... กึ่งเดือนยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้
ตลอด ๗ วัน เขาพึงหวังผล ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือพระอรหัตตผลในปัจจุบัน หรือ
เมื่อขันธปัญจกยังเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี.
เมื่ออ่านมาถึงตรงนึ้หวังว่าผู้อ่านคงจะพอเข้าใจเวลาคนที่พูดอยู่ หน้าเสาธง หน้าชั้นเรียน หน้าห้องประชุม ในสภา ในศาล ในวัด ว่าให้มีสตินั้น หมายถึงอะไร
@นั่งเก้าอี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น