ทาน ผู้ให้ ผู้รับ



การให้ทาน เป็นเรื่องการให้และการรับ จึงต้องประกอบด้วย สิ่งที่ให้ ผู้ให้ ผู้รับ และกาละเทศะที่เหมาะสมจะเกิดทาน จะเกิดทานหรือไม่ถ้าไม่มีสิ่งที่กล่าวมา เช่นถ้ามีผู้ให้ แต่ไม่มีผู้รับ หรือมีแต่เพียงผู้รับแต่ไม่มีผู้ให้  แม้เราตั้งความปรารถนาที่จะให้ทานแต่ถ้าไม่มีผู้รับเลยจะทำให้การให้ทานนั้นสำเร็จได้อย่างไร


หรือเราจะเชื่อว่าไม่จริงหรอก หยิบเงินออกมาแล้วบอกว่าจะให้ใครเปล่าๆก็ได้คงจะมีคนมาขอเป็นผู้รับเยอะแยะไป หรือบริจาคเงินให้มูลนิธิสักอย่างก็คงมีคนรับเองจากกิจกรรมของมูลนิธินั้น ก็ถือว่าการให้ของเราสำเร็จแล้ว แท้จริงเงินนั้นอาจไม่ได้ไปถึงบุคคลหรือเป็นไปตามความปรารถนาเดิมของเราเลย

เมื่อพิจารณาให้ดีการมีผู้รับและตั้งเจตนาเป็นผู้รับทานเรานั้น รวมกับ การมีผู้ให้และตั้งเจตนาในการให้ จึงจะสำเร็จเป็นการให้ทาน


ลองเปรียบเทียบอีกอย่างเช่นเราเป็นเจ้าบ้านที่ชงกาแฟอร่อยมากใครที่เคยได้ชิมกาแฟของเราต่างก็ติดใจยินดีชื่นชมที่ได้รับกาแฟที่เราชงมาก วันหนึ่งมีแขกสำคัญมาเยี่ยมเราอยากจะอวดฝีมือในการชงกาแฟและอยากให้แขกที่มาเยี่ยมได้รับความสุขจากการดื่มกาแฟของเรา ก็เสนอที่จะชงกาแฟให้ทานแต่ แขกผู้ไม่รู้จักเลยว่าเรามีความสามารถนี้และยังไม่ต้องการดืมอะไรในตอนนั้นหรืออาจจะเกรงใจไม่อยากรบกวนก็ปฎิเสธ ผู้ที่เสนอให้กาแฟก็ผิดหวังไม่สมกับความตั้งใจแต่แรก ไม่ได้รับคำชมเชยในฝีมือหลังจากแขกได้ดื่มกาแฟ การให้นี้ก็ไม่สำเร็จเพราะไม่มีผู้เต็มใจจะรับ แต่ถ้าผู้รับเล็งเห็นความกระตือรือร้นของผู้ให้ มีปัญญา ที่ปรารถนาให้ผู้ให้มีความสุขจากการให้ ตอบรับการให้กาแฟนั้น การให้ก็จะประสพความสำเร็จเกิดความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ


ผู้ที่ควรได้รับการขอบคุณจากการให้ควรจะเป็นผู้ที่ให้ แต่จากตัวอย่างข้างต้น เจ้าบ้านก็อาจจะต้องขอบคุณแขกที่รับกาแฟนั้นทำให้ทุกคนมีความสุขสำเร็จประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

ในชีวิตประจำวันของเราถ้าสังเกตดูก็มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมากมายบ่อยๆ แม้ในบางวัฒนธรรมผู้รับแสดงความขอบคุณผู้ให้และผู้ให้ก็แสดงความขอบคุณผู้รับด้วยเช่นกัน

ศาสนาพุทธสอนไว้ให้คนทำทาน ทำบุญ สละสิ่งของของตนให้ผู้อื่นโดยไม่เบียดเบียนตนเองให้เดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนกว่าหรือให้ผู้รับได้ยังประโยชน์ที่ดียิ่งกว่าทานที่ให้นั้น การให้แบบนี้ก็ตั้งเจตนาเพื่อขัดเกลาอบรมตนเองให้ลดความตระหนี่ลง เป็นการเตรียมจิตใจอย่างสำคัญที่จะเกิดปัญญาในการเข้าใจสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งต่อไป ผู้ประกอบการให้นั้นผู้ให้มีจิตผ่องใส เข้าใจเจตนาในการให้เห็นประโยชน์ในการให้นั้น เมื่อระหว่างการให้ก็มีความนอบน้อมให้ด้วยความเสียสละลดละในความถือตัวตนพอจะทำให้เข้าใจในเบื้องต้นของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราของเรา และเมื่อได้ทำการให้ไปแล้วระลึกถึงในครั้งใดก็มีความปิติสุขในการให้นั้น เป็นการให้ที่มีความสุขไปตลอดทาง ส่วนผู้รับนั้นก็มีเจตนาบริสุทธิ์หวังประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้ให้ในลักษณะเดียวกัน เตรียมตัวฝึกตัวบำเพ็ญเพียรภาวนาหวังประโยชน์จากสิ่งที่ได้รับเพื่อ การรักษากายหรือวัตถุนั้นให้เป็นไปเพื่อความเจริญของพุทธศาสนา สมกับความตั้งใจของผู้ให้ เมื่อเกิดการให้และรับเช่นนี้บ่อยๆเป็นประจำก็เกิดความเจริญระดับจิตใจในกลุ่มคนเหล่านั้น การเบียดเบียนกันในสังคมก็ลดลงเมื่อความตระหนี่ลดลงความเอื้อเฟื้อปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขเพิ่มขึ้น

สิ่งที่เห็นนี้ในทุกเช้าที่มีคนออกมาทำบุญตักบาตรคงจะเป็นเรื่องที่เห็นจนเจนตา จนความหมายความเข้าใจเรื่องการให้และการรับแตกต่างออกไป ฝรั่งที่ตั้งคำถามว่าพระทำอะไรให้เป็นประโยชน์ชาวบ้านถึงต้องให้ข้าวน้ำ หรือที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม  อื่นๆ หรือทำบุญด้วยเงินจำนวนมากไปทำไม หรือแม้แต่คนไทยเองที่ห่างเหินจากความเข้าใจเรื่องการให้และรับนี้ก็มองเป็นเรื่องทำตามกันมาเท่านั้น

แม้การทำบุญตักบาตรนั้นอีกความหมายหนึ่งคือการส่งบุญนี้ต่อไปให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วโดยอาศัยพระผู้มีทรงศีลเป็นสะพานบุญส่งไป เหมือนในพระไตรปิฎกที่กล่าวถึงไว้หลายครั้งแม้แต่การสร้างสมบุญนี้แล้วเมื่อตายไปจะมีที่อยู่อาศัยมีรูปรัศมีงดงามอยู่ในสวรรค์ชั้นต่างๆหลายระดับ พระหลายรูปที่มีปัญญาเข้าใจเรื่องนี้ดีก็สั่งสอนญาติโยมไปตามแต่อุปนิสัยของแต่ละคน แต่เพื่อจุดประสงค์ที่จะพัฒนาความเสียสละในหมู่คนเหล่านั้น คล้ายกับหลายเรื่องในชีวิตเราที่ใช้ประโยชน์ก่อนที่จะรู้จัก เช่นเรากินข้าวกินนมมาตั้่งแต่เด็กจนโตจนตายบ้างคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าข้าวหรือนม มีองค์ประกอบอะไรเป็นคุณเป็นโทษอะไร อาศัยกินแล้วอิ่มบรรเทาความหิวแล้วก็พอ

ในหมู่ชาวบ้านเมื่ออยากให้พ่อแม่ที่ล่วงลับไปได้รับอาหารที่เคยชอบก็จะทำอาหารชนิดนั้นไปถวายพระ อาหารนั้นเมื่อเป็นพระแล้วก็ต้องฉันตามปกติแม้ชอบหรือไม่ก็ตามใช่เป็นการฝึกตนแต่ก็ลำบากกับความไม่ถูกปากถูกอาการกับอาหารนั้น จากนั้นก็จะสลับกันพระจะเป็นผู้ให้บ้างด้วยการให้ธรรมทานด้วยการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในข้อธรรมมะต่างๆรวมถึงเจตนาของการทำบุญ ตักบาตร การทำทาน ต่างๆแก่ญาติโยม ผู้รับมีความเข้าใจมากขึ้นถ้าตั้งอกตั้งใจฟัง ก็จะนำไปศึกษาปฎิบัติให้เห็นผลต่อไป

ตัวอย่างการให้ทานดังกล่าวจะเป็นแบบที่ผู้ให้และผู้รับมีเจตนาแตกต่างกันแต่ก็หวังประโยชน์เกื้อกูลกันแม้จะยังไม่เข้าใจการให้ทานแต่ก็ยังคงพอเกิดประโยชน์เป็นปัจจัยเกื้อหนุนศาสนาต่อไป

ยังมีตัวอย่างจริงในปัจจุบันที่การให้ทานทั้งผู็ให้และผู้รับต่างมุ่งหวังประโยชน์ไปในทางมิจฉาทิฏฐิ ประโยชน์ในทางได้เพิ่มด้วยความอยากมากกว่าการลดละ สละ ปล่อยวางในบั้นปลาย คล้ายกับว่ายอมทำทานในโลกนี้เพื่อความร่ำรวยในสวรรค์
ส่วนผู้รับก็มีเจตนารับทานเพื่อขยายเจตนาแห่งความโลภในนามของศาสนาพุทธ

เราเองเมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว เราจะให้ทานทำบุญตักบาตรแบบไหน และผู้รับมีเจตนาอย่างไร เรื่องนี้อาจดูไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่เมื่อดูรอบตัวเราในประเทศไทยและที่อื่นๆความเจริญและความเสื่อมของพุทธศาสนาเกิดจากความไม่เข้าใจและไม่พิจารณาเรื่องเล่านี้แล้ว


@นั่งเก้าอี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น