ยึดมั่นถือมั่น



ยึดมั่นถือมั่น


วันนี้ได้อ่านพระสูตรหนึ่งที่พูดถึงความยึดมั่นถือมั่นที่คนทั่วไปมักได้ยินพระเทศน์บ่อยๆว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่น คงจะมีพระสูตรอื่นๆกล่าวถึงเรื่องการยึดมั่นถือมั่นไว้ว่าเป็นสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้ก้าวหน้าในการปฎิบัติธรรม แต่ผู้เขียนชอบพระสูตรนี้ตรงที่พระพุทธองค์แสดงไว้ชัดเจนว่าถ้ายังสำคัญตัวเองว่า ดีกว่า เสมอตัว หรือเลวกว่าคนอื่นก็ยังคงยึดมั่นถือมั่นอยู่


และพระพุทธองค์ยังทรงแสดงไว้ชัดเจนว่าสิ่งที่เรายังยึดมั่นถือมั่นอยู่นั้นก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเองนี่แหละ สำหรับผู้เขียนแล้วนี้คือความสว่างอย่างหนึ่งที่เคยเข้าใจผิดมาตลอดว่ายึดมั่นถือมั่นหมายถึงใน ทรัพย์ อำนาจ วาสนา รูปสวย มีอภินิหาร เฉลียวฉลาด มีฝีมือ มีต่ำแหน่งในสังคม หรือการเปรียบเทียบทั้งหลายว่าเป็นการยึดมั่นถือมั่น ตอนนี้จากพระสูตรนี้บอกไว้ชัดเจนแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเองนี่แหละที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์พอไปยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้วก็เกิดการเปรียบเทียบว่าดีกว่า เสมอกัน เลวกว่าผู้อื่น

คราวนี้พอเข้าใจแล้วว่าไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์นี้ ก็คงกลับมาดูที่ ตัวเองเป็นหลักนั่นเอง และเมื่อผู้ปฎิบัติยังคงมีความสำคัญตนเองว่าดีกว่าเลวกว่าเสมอกันกับผู้อืนอยู่ในระหว่างทางปฎิบัติ ก็คงพอจะนำพระสูตรนี้มาเตือนใจได้ว่าควรกลับไปพิจารณาที่ใด



พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค





เสยยสูตร

             [๑๕๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมี

เพราะยึดมั่นอะไร ถือมั่นอะไร จึงมีความสำคัญตนว่า ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา

หรือว่าเลวกว่าเขา ฯ

             ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวก

ข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นต้นเหตุ ฯ

             พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อจักษุมี เพราะยึดมั่นจักษุ ถือมั่นจักษุ จึง

มีความสำคัญตนว่า ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือว่าเลวกว่าเขา ฯลฯ เมื่อใจมี

เพราะยึดมั่นใจ ถือมั่นใจ จึงมีความสำคัญตนว่า ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา

หรือว่าเลวกว่าเขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

จักษุเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ

             ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ

             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า ฯ

             ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ

             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่ยึดมั่น

สิ่งนั้นแล้ว จะพึงมีความสำคัญตนว่า เป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือว่า

เลวกว่าเขา บ้างหรือหนอ ฯ

             ภิ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯลฯ

             พ. ใจเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ

             ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ

             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ

             ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ

             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่ยึดมั่น

สิ่งนั้นแล้ว จะพึงมีความสำคัญตนว่า ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือว่าเลว

กว่าเขา บ้างหรือหนอ ฯ

             ภิ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

             พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อม

เบื่อหน่ายทั้งในจักษุ ฯลฯ ทั้งในใจ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะ

คลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว

รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่น

เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ฯ

จบสูตรที่ ๕



@นั่งเก้าอี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น