รู้ชัดด้วยปัญญา


พระสูตรนี้ให้กำลังใจอย่างมากแก่ผู้ปฎิบัติที่กำลังหลงทางหรือไม่แน่ใจในการปฎิบัติของตนเอง พระพุทธองค์ตั้งต้นด้วยว่าจะมีอยู่ไหม?เหตุที่ภิกษุทั้งหลายจะสามารถบอกตัวเองได้ว่าบรรลุมรรคผล โดยไม่ต้องคิดเชื่อเอง เดาเอง ชอบใจเอง ฟังตามคนอื่นมา

สิ่งนั้นพระพุทธเจ้าบอกว่าคือการรู้ชัดด้วยปัญญาของตนเอง ว่าเวลาเห็นรูป รับรส รับกลิ่น เสียง และ ธรรมารมณ์ ต่างๆ แล้วรู้ชัดด้วยตนเองหรือไม่ว่ามี ราคะ โทสะ โมหะ มี หรือ ไม่มี ภายในใจตนเอง

การรู้ชัดภายในใจตนเองนั้นเป็นปัญญาที่ไม่ได้เกิดจากการอ่าน การฟัง การคิดตรึกตรองเอาเอง แต่เป็นปัญญาที่ตนเองรับรู้ได้เอง ที่นี้ถ้าผู้เขียนเข้าข้างตัวเองโดยอ้างอิงจากพระสูตรนี้ เราทุกคนเวลามีอะไรมากระทบให้โกรธ ความโกรธมีหรือไม่มี ตัวนี้คงพอจะรู้จะเห็นกันได้ทุกคน คงจะแปลกถ้าคนโกรธ โมโห หรือ อาฆาต พยาบาทใครอยู่แล้วไม่รู้ตัวสักนิด อาจจะมีบ้างที่ความหยาบละเอียดแตกต่างกันออกไปแต่พอรู้ได้บ้างก็คงพอจะเริ่มต้นจากตรงนั้นได้ ตัวที่ยากอาจจะเป็นราคะ และตัวโมหะที่ หลงๆ มัวๆ ดูยากเห็นชัดได้ยาก อย่างไรก็ตามก็เป็นจุดเริ่มต้นที่นักปฎิบัติทุกคนคงจะผ่านมาบ้างในการใช้ชีวิตประจำวันที่พอจะยกขึ้นมาให้กำลังใจตัวเองว่าถ้ายังรู้เห็นอยู่ว่ามีราคะ โทสะ โมหะ เวลามีอะไรมากระทบกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  เป็นแบบนี้เรื่อยๆไปก็ยังคงมีหวังความสำเร็จได้ซักวัน

อีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนเองก็เคยเข้าใจเรื่องคำว่าปัญญาในการตัดกิเลสทั้งหลายเป็นเรื่องที่เกินกว่าคนธรรมดาทั่วไปจะเข้าใจหรือไม่เคยสัมผัสในชีวิตปกติเลย เคยคิดว่าต้องเป็นผู้วิเศษหรือพระอาจารย์เก่งๆทางวิปัสสนาเท่านั้นที่จะมีปัญญาแบบนั้น ระดับชาวบ้านคงไม่เคยเจอ  แต่จากพระสูตรนี้ปัญญาที่จะรู้เห็นกิเลส มีอยู่ รออยู่ เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของคนทุกคนอยู่แล้ว เพียงแต่อาจมีความเข้าใจและนำออกมาใช้ได้เก่งไม่เท่ากัน ต้องฝึกฝนอบรมจนกว่าจะใช้ได้คล่อง หรือเปรียบเทียบก็คงเหมือนกันกับการออกกำลังกายที่ทำให้กล้ามเนื้อที่มีอยู่แล้วแข็งแรงขึ้นจนนำมาใช้มาได้

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค


ปริยายสูตร

             [๒๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุมีหรือหนอแล ที่จะให้ภิกษุอาศัย

พยากรณ์อรหัตผล เว้นจากเชื่อผู้อื่น หรือเว้นจากความชอบใจ เว้นจากการฟัง

ต่อๆ กันมา เว้นจากการนึกเดาเอาตามเหตุ เว้นจากการถือเอาใจความตามความเห็น

ของตน ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จ

แล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์

ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นต้นเดิม เป็น

ผู้แนะนำ เป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอเนื้อความ

แห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มีพระ-

*ภาคแล้ว จักทรงจำไว้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น

พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวบัดนี้ ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสพระ-

*ผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุมีอยู่ ที่จะให้

ภิกษุอาศัยพยากรณ์อรหัตผล เว้นจากการเชื่อต่อผู้อื่น เว้นจากความชอบใจ เว้น

จากการฟังต่อๆ กันมา เว้นจากการนึกเดาเอาตามเหตุ เว้นจากการถือเอาใจความ

ตามความเห็นของตน ย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจ

ที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ

             [๒๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุที่จะให้ภิกษุอาศัยพยากรณ์อรหัตผล

ฯลฯ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมรู้ชัดซึ่งราคะ

โทสะและโมหะอันมีอยู่ในภายในว่าราคะ โทสะ และโมหะมีอยู่ในภายในของเรา

ภิกษุเห็นรูปชนิดใดด้วยจักษุแล้ว ย่อมรู้ชัดซึ่งราคะ โทสะ และโมหะอันมีอยู่ใน

ภายในว่า ราคะ โทสะ และโมหะมีอยู่ในภายในของเรา หรือรู้ชัดซึ่งราคะ โทสะ

และโมหะอันไม่มีอยู่ในภายในว่า ราคะ โทสะ และโมหะไม่มีอยู่ในภายในของเรา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้พึงทราบด้วยการเชื่อต่อผู้อื่น พึงทราบด้วยความชอบ

ใจ พึงทราบด้วยการฟังต่อๆ กันมา พึงทราบด้วยการนึกเดาเอาตามเหตุ หรือพึง

ทราบด้วยการถือเอาใจความตามความเห็นของตนบ้างหรือหนอ ภิกษุเหล่านั้นกราบ

ทูลว่า ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

             พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้พึงทราบได้เพราะเห็นด้วยปัญญา

มิใช่หรือ ฯ

             ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

             พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้ก็เป็นเหตุให้ภิกษุอาศัยพยากรณ์อรหัตผล

เว้นจากการเชื่อผู้อื่น เว้นจากความชอบใจ เว้นจากการฟังต่อๆ กันมา เว้นจาก

การนึกเดาเอาตามเหตุ เว้นจากการถือเอาใจความตามความเห็นของตน ย่อมรู้ชัดว่า

ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ

เป็นอย่างนี้มิได้มี ฯลฯ

พระสูตรนี้ยาวได้เพียงคัดลอกมาบางส่วน อ่านเพิ่มเติมได้ที่
http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=18&A=3607&Z=3660&pagebreak=0
@นั่งเก้าอี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น