กรรมใหม่ กรรมเก่า ดับกรรม วิธีดับกรรม


ความเชื่อเรื่องกรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของชาวพุทธแม้ยังพิสูจน์ไม่ได้แต่ก็ควรมีศรัทธาว่าทำกรรมดีก็จะดีทำกรรมชั่วก็จะชั่วมีผลกรรมมีวิบากติดตามมาจากกรรมนั้น

การสอนเรื่องกรรมในศาสนาอื่นๆก็มีเช่นกันและรายละเอียดก็แตกต่างกันออกไปตามภูมิปัญญาของผู้สอน แม้แต่ในหมู่คนไทยเองความเข้าใจเรื่องกรรมก็มีความแตกต่างกันอยู่มากบ้างครั้งก็เลยสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลไป ทำให้สิ่งที่พิสูจน์ชัดเจนไม่ได้นี้ขาดความน่าเชื่อถือไป เมื่อเห็นคนทำชั่วยังไม่ได้รับผลกรรมชั่วและคนทำดียังไม่ได้รับผลดี คนบางคนจึงเลือกจะเชื่อว่า ผลกรรมไม่มี เกิดมาแค่ชีวิตเดียวจะทำอะไรก็ทำไปเอาสนุกสนานไว้ก่อน ก็เห็นว่าคนอื่นๆทำชั่วกันมาไม่เห็นจะเป็นอะไร ทำบุญไปจะได้อะไรเหมือนเลี้ยงโจรนุ่งห่มผ้าเหลือง เอาแต่นั่งหลับตาทำสมาธิก็ไม่เห็นได้อะไรเหมือนคนขี้เกียจไม่ทำมาหากิน

หนังสือเรื่องกรรม วิธีแก้กรรม กฎแห่งกรรมทั้งหลายก็มีให้อ่านอยู่มากมาย และหลายเรื่องทำให้คนอ่านเชื่อตามแต่วัตถุประสงค์ของผู้เขียนเรื่องขึ้นมา ผู้อ่านจะเชื่อหรือไม่ก็ไม่อาจจะพิสูจน์กันได้ชัดเจนว่าผลกรรมนี้เกิดจากกรรมอันนั้น

การที่ได้เกิดเป็นคนไทยมีโอกาสพบพุทธศาสนาและพบพระไตรปิฎกนับเป็นบุญอย่างยิ่งอันหนึ่ง ทำให้ผู้ที่สนใจพอจะได้ค้นคว้าพระสูตรเพื่อนำมายืนยันว่ากรรมตามที่พระพุทธเจ้าสอนสาวกไว้มีเนื้อหาอย่างไรที่แตกต่างจากเรื่องที่แต่งขึ้นมาใหม่ภายหลัง และแตกต่างจากความเข้าใจของคนปัจจุบันเป็นอย่างไร

พระสูตรนี้สั้นมากและชัดเจนมาก แต่อาจจะต้องใช้เวลาพิจารณาทำความเข้าใจนาน

เมื่อไหร่ที่พบคนหรือหนังสือที่บอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องกรรมลองเปรียบเที่ยบดูกับพระสูตรนี้และอาจจะเห็นว่าสิ่งที่เป็นความเข้าใจเรื่องกรรมแต่เดิมของเรานั้นผิดจากพระไตรปิฎกไปมากจริงๆ

ถ้าธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนไว้และมอบให้เป็นตัวแทนพระองค์หลังจากเสด็จปรินิพพาน พระไตรปิฎกจะเป็นตัวแทนพระองค์ ที่ชาวพุทธทุกคนอย่างน้อยควรจะอ่านสักบท

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค


นวปุราณวรรคที่ ๕
กรรมสูตร
             [๒๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงกรรมทั้งใหม่และเก่า ความดับ
แห่งกรรม และปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับแห่งกรรม ท่านทั้งหลายจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมเก่าเป็นไฉน จักษุอันบัณฑิต
พึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า อันปัจจัยทั้งหลายปรุงแต่งแล้ว สำเร็จด้วยเจตนา เป็น
ที่ตั้งแห่งเวทนา หู ... จมูก ... ลิ้น ... กาย ... ใจอันบัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า  อัน
ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว  สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย
นี้เราเรียกว่า กรรมเก่า ฯ
             [๒๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมใหม่เป็นไฉน กรรมที่บุคคลทำด้วย
กาย วาจา ใจ ในบัดนี้ นี้เราเรียกว่า กรรมใหม่ ฯ
             [๒๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความดับแห่งกรรมเป็นไฉน นิโรธที่ถูกต้อง
วิมุตติ เพราะความดับแห่งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม นี้เราเรียกว่า ความดับ
แห่งกรรม ฯ
             [๒๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับแห่งกรรม
เป็นไฉน อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑
สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑
สัมมาสมาธิ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความ
ดับกรรม ฯ
             [๒๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมเก่า กรรมใหม่ ความดับแห่งกรรม
และปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับกรรม เราได้แสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลาย
ด้วยประการดังนี้แล กิจใดแล อันเราผู้ศาสดา ผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้
อนุเคราะห์แก่สาวกทั้งหลาย พึงทำ กิจนั้นเราทำแล้วเพราะอาศัยความอนุเคราะห์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้  นั่นเรือนว่างเปล่า เธอทั้งหลายจงพยายาม อย่า
ประมาท อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนใจในภายหลัง นี้เป็นอนุศาสนีของเราเพื่อ
เธอทั้งหลาย ฯ
จบสูตรที่ ๑
 



@นั่งเก้าอี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น