มาร มาร อะไร คือ มาร



มาร จอมมารทั้งหลายที่เราชาวพุทธรู้จักในเรื่องที่ มารได้โอกาศมาทูลขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพานก่อนที่พระอานนท์จะได้ขอให้พระองค์ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ต่อ หรือ มารที่เป็นกิเลสในใจเราที่ออกมากวนเวลาทำให้พลาดสิ่งสำคัญในชีวิตไป หรือมารคือคนที่มักจะพบว่าคอยขวางทางบุญทางกุศลของเราชาวพุทธทั้งหลาย หรือคนบางคนที่คอยชักนำคนอื่นปฎิบัติต่อคนอื่นไปโดยมากชาวพุทธจะเชื่อว่ามารนั้นเป็นสิ่งนอกตัว ความทุกข์ยาก อุปสรรค เป็นไปในทางร้ายที่คอยขัดขวางความสำเร็จต่างๆ อย่างภาษิตที่ว่า”มารไม่มีบารมีไม่เกิด”ก็ใช่เหมือนกัน

เมื่อพบพระสูตรที่มีพระภิกษุถามพระพุทธเจ้าตรงๆเลยว่ามาร หรือ ที่เรียกว่ามารนี้ อย่างไรจึงจะเรียกว่ามาร เลยเป็นเรื่องน่าสนใจเราเองก็เข้าใจผิดอยู่หลายอย่าง
พระพุทธเจ้าตอบว่า เมื่อมีตา มีรูป มีการรับรู้การเห็น(วิญญาณจักษุ) มีธรรมที่รู้แจ้งด้วยการเห็น อยู่ที่ใดมารหรือบัญญัติว่ามารมีอยู่ เช่นเดียวกันกับ หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ดังนั้นมารก็เกิดได้ที่ อายตนะทั้ง 6 ที่กล่าวมานั้นเอง

ลองพิจารณาอย่างนี้ว่า มีตา มีรูป มีการรับรู้การเห็น ทั้ง 3 อย่างนี้คือ ผัสสะในความหมายหนึ่ง ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา คือ สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งก็เป็นส่วนธรรมที่รู้แจ้งด้วยการเห็น  อย่างนั้น มารก็มีอยู่ในสายของปฎิจสมุปปบาทแล้วเป็นโซ่สำคัญเส้นหนึ่งที่ต่อเนื่องไปสู่การเกิดทุกข์ทั้งหลายที่เป็นปัจจัยจากตัณหาและอุปทาน

หรือพิจารณาอีกอย่างผัสสะนี้เองที่สร้างมารขึ้นถ้าเราไม่คอยระมัดระวังเห็นตามความเป็นจริงของการเกิดผัสสะ และก็ยังคงต้องระมัดระวังในทุกอายตนะเพราะเป็นแหล่งเกิดมารได้ทุกทาง เพราะเหตุนี้กระมังที่เราพบเสมอว่าพระพุทธเจ้าสอนให้ระวังที่ผัสสะจากอายตนะทั้งเป็นเรื่องที่สำคัญมากฐานของ การปฎิบัติในทุกเรื่องมักมารวมที่การระวังกายกับใจนี้

หรือลองพิจารณาอีกอย่างว่า
ถ้าไม่มีตา ก็ไม่เกิดมาร
ถ้ามีตา แต่มีรูปมากระทบ ก็ไม่เกิดมาร
ตากับรูป กระทบแต่ไม่มีการรับรู้การเห็นนั้น มารก็ไม่เกิด
มีตา มีรูป มีการรับรู้ ที่เรียกว่า ผัสสะ แต่ไม่มีธรรมที่พึ่งรู้แจ้งจากผัสสะนั้น มารก็ไม่เกิด
ทำนองเดียวกันนี้กับ หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ดังนั้นเมื่อเราฝึกตนไว้คอยระวังเมื่อเกิดผัสสะที่ใดได้จดจ้องเห็นการเกิด การดับ เพราะสิ่งที่เกิดธรรมดาก็ต้องมีดับ ผัสสะหรือธรรมรู้จากตรงนั้นก็ต้องดับ เห็นอยู่บ่อยๆก็คือการฝึกการคอยระวังไม่ให้มารลากจูงใจไปสู่เรื่องต่างๆ ที่จริงเหมือนไม่ใช่เป็นการกำจัดมารแต่คอยดูว่ามารจะพาเราไปทางไหนการเห็นบ่อยเห็นมารเป็นศัตรูของเราที่จ้องจะคอยทำร้าย มารจะไม่อยู่ในความมืดที่เรามองไม่เห็นอีกต่อไปคราวนี้ก็ง่ายเพราะถ้าเราเห็น มารก็กลัวเราเหมือนกันลากจูงเราไปไหนไม่ได้ มารก็ดับไปเองแล้วก็ไปโผล่ที่อื่นเรื่องอื่นต่ออีก

ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้วก็พบว่าชีวิตเราประกอบด้วยกายกับใจนี้ มีองค์ประกอบที่พร้อมเป็นมารอยู่ในตัวเองอยู่ทุกคนแล้ว เป็นมาตั้งแต่รู้ความมารก็มาเป็นเพื่อนเราตลอด อีกอย่างถ้าจะให้มารตายเราคงต้องตายไปด้วยเพราะต้องไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และการรับรู้ต่างๆ แต่การรู้จักว่ามารคืออะไร เห็นการเกิดการดับของมารแล้ว มารก็เป็นประโยชน์เป็นบทเรียนบทฝึกฝนที่ดีของเราเช่นกัน

ทีนี้คำว่า”มารไม่มีบารมีไม่เกิด”มีความหมายแตกต่างจากก่อนจะอ่านบทความนี้หรือเปล่า
สมิทธิสูตรที่ ๑
             [๗๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน
กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระสมิทธิเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า มาร มาร ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร พระเจ้าข้า
จึงเป็นมารหรือการบัญญัติว่ามาร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสมิทธิ จักษุ รูป
จักษุวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ มีอยู่ ณ ที่ใด มารหรือการบัญญัติ
ว่ามารก็มีอยู่ ณ ที่นั้น หู เสียง โสตวิญญาณ ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยโสตวิญญาณ
มีอยู่ ณ ที่ใด มารหรือการบัญญัติว่ามารก็มีอยู่ ณ ที่นั้น จมูก กลิ่น ฆานวิญญาณ
ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยฆานวิญญาณ มีอยู่ ณ ที่ใด มารหรือการบัญญัติว่ามารก็มี
อยู่ ณ ที่นั้น ลิ้น รส ชิวหาวิญญาณ ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหาวิญญาณมีอยู่
ณ ที่ใด มารหรือการบัญญัติว่ามารก็มีอยู่ ณ ที่นั้น กาย โผฏฐัพพะ กายวิญญาณ
ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกายวิญญาณ มีอยู่ ณ ที่ใด มารหรือการบัญญัติว่ามารก็มี
อยู่ ณ ที่นั้น ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณ
มีอยู่ ณ ที่ใด มารหรือการบัญญัติว่ามารก็มีอยู่ ณ ที่นั้น ฯ
             [๗๒] ดูกรสมิทธิ จักษุ รูป จักษุวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วย
จักษุวิญญาณ ไม่มี ณ ที่ใด มารหรือการบัญญัติว่ามารก็ไม่มี ณ ที่นั้น ฯลฯ ใจ
ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณ ไม่มี ณ ที่ใด
มารหรือการบัญญัติว่ามารก็ไม่มี ณ ที่นั้น ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น